การรุกรานเกาหลีของญี่ปุ่น (พ.ศ. 2135-2141) ของ อี_ซุน-ชิน

วีรกรรมของอี ซุน-ชิน ได้รับการจดจำอย่างมาก จากการเข้าร่วมรบหลายต่อหลายครั้งในการรุกรานเกาหลีของญี่ปุ่น (พ.ศ. 2135-2141) นี้เอง ในปี พ.ศ. 2135 โทโยโทมิ ฮิเดโยชิออกคำสั่งเคลื่อนพลเข้าตีเกาหลี หมายจะกวาดพื้นที่ทั้งคาบสมุทรเกาหลี เพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการหน้าในการเข้ายึดประเทศจีนต่อไป หลังการโจมตีเมืองปูซาน อี ซุน-ชินก็เริ่มปฏิบัติการโต้ตอบทางทะเล จากยอซู หน่วยบัญชาการของเขา เขามีชัยเหนือญี่ปุ่นใน ยุทธนาวีที่โอ๊กโป,ยุทธนาวีที่ซาชาน และอีกหลายศึก ชัยชนะอย่างต่อเนื่องของเขา ทำให้แม่ทัพทั้งหลายของญี่ปุ่นกังวลถึงภัยจากทางทะเล อี ซุน-ชินเข้ารบในยุทธนาวีใหญ่ๆ อย่างน้อย 23 ครั้ง และได้ชัยชนะทุกครั้ง

ฮิเดโยชิตระหนักถึงความจำเป็นยิ่งยวด ถึงการครอบครองทะเลในระหว่างสงคราม จากล้มเหลวในการจ้างเรือแกลเลียนจากโปรตุเกส ฮิเดโยชินจึงหันไปเพิ่มขนาดกองเรือของเขาเป็น 1,700ลำ โดยคิดว่าเกาหลีจะสู้ในระยะประชิด และญี่ปุ่นจะเอาชนะได้โดยง่ายเป็นแน่ เพราะในเวลานั้นระดับความสามารถของกองทัพเกาหลีและญี่ปุ่นแตกต่างกันมาก

มีเหตุผลอยู่หลายประการว่าทำไมอี ซุน-ชินถึงชนะได้หลายต่อหลายครั้ง หนึ่งคือ อี ซุน-ชินได้เตรียมตัวรับมือกับสงคราม ที่เขามองว่าเลี่ยงไม่ได้ โดยการตรวจความพร้อมของกำลังพล, ยุทโธปกรณ์และเกียกกาย (กองเสบียง) ให้มีความพร้อมอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวางแผนและสร้างเรือเต่า ที่ถือว่าเป็นกุญแจหลักต่อชัยชนะในครั้งนี้ สอง เกาหลีมีความเชี่ยวชาญในด้านภูมิศาสตร์ประเทศของตัวเองเป็นอย่างดี และอี ซุน-ชินก็มักจะล่อญี่ปุ่น ให้เข้ามารบในที่ๆและวันเวลาญี่ปุ่นเสียเปรียบเสมอๆ โดยสถานที่นั้นคือสถานที่ที่เป็นช่องแคบ เรือรบญี่ปุ่นที่มีจำนวนมากเข้ามาติดกับและเบียดเสียดจนเรือรบแถวหลังไม่สามารถช่วยสนับสนุนได้และคลื่นทะเลหนุนให้เรือรบญี่ปุ่นเข้ามาในช่องแคบได้ง่าย แต่หนีออกไปไม่ได้ อี ซุน-ชินยังแสดงให้ทหารหาญเห็นถึงความกล้าหาญและความจงรักษ์เสมอๆ เขาปฏิบัติต่อทหารของเขาด้วยเกียรติ และรบเคียงบ่าเคียงไหล่ทหารหาญ แม้ในสถานการณ์เสี่ยงอันตราย มีการบันทึกเอาไว้ว่า เขามักจะแสดงออกถึงความเสียดายในชีวิตทหารที่ตายไป และตอบสนองความต้องการสุดท้ายของทหารที่เสียชีวิตเสมอๆ ด้วยเหตุนี้เอง ทหารทุกนายจึงรักเขา และพร้อมที่จะร่วมเป็นร่วมตายกับเขา แม้ข้าศึกจะมีจำนวนมากกว่านับร้อยเท่า มากไปกว่านั้น เขามีคุณสมบัติของผู้นำในการรักษาขวัญกองทัพ ในยามที่ข่าวความพ่ายแพ้ทางบกจะเข้ามา และอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกาหลีชนะญี่ปุ่นได้คือ เรือรบเกาหลี พานโอกซอน ที่มีคุณลักษณ์เหนือชั้นกว่าเรือรบญี่ปุ่นยิ่ง โดยเชิงโครงสร้างแล้ว พานโอกซอนมีความแข็งแกร่งมากกว่า ท้องเรือแข็งแกร่ง มีปืนใหญ่ประจำเรือไม่ต่ำกว่า 20 กระบอก ในขณะที่ญี่ปุ่นมีเพียงหนึ่งหรือสองกระบอก ถึงแม้บางลำจะเป็นปืนอย่างยุโรปแต่ก็เป็นปืนรุ่นเก่า จึงทำให้เรือรบเกาหลีมีข้อได้เปรียบในการสู้ระยะไกลอย่างมาก

ความเยี่ยมยอดของเขา ในฐานะนักยุทธศาสตร์และผู้นำนั้น ได้รับการกล่าวขานอย่างมาก ในระหว่างสงคราม ตัวอย่างเช่น ยุทธการที่ช่องแคบมยองลยาง ที่อี ซุน-ชินนำเรือพานโอกซอนเพียง 13 ลำ เข้าโรมรันกับกองเรือญี่ปุ่น 333 ลำ (เป็นเรือรบ 133ลำ และเรือลำเลียงไม่น้อยกว่า 200 ลำ) [2][3][4][5][6][7][8][9][10][11]ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2140 โดยสามารถจมเรือรบญี่ปุ่นได้ 31ลำ[12] ใช้การไม่ได้ 92 ลำ [ต้องการอ้างอิง] ถูกจับเป็นเชลยประมาณ 8,000 ถึง 18,466 นาย [13] ในขณะที่ทางเกาหลีไม่เสียเรือเลยสักลำ มีทหารตาย 2 นาย และบาดเจ็บ 3 นายบนเรือที่อี ซุน-ชินบัญชาการ[14] และอี ซุน-ชินยังเป็นผู้บัญชาการที่กระตือรือร้น มักจะเป็นฝ่ายเข้าตีกองเรือญี่ปุ่นอยู่เสมอ

ภายใต้การบัญชาการของอี ซุน-ชิน กองทัพญี่ปุ่นจึงต้องถอนกำลังออกไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เกาหลีและจีนปลอดภัยจากการรุกรานของญี่ปุ่น

พ.ศ. 2136 อี ซุน-ชินได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพเรือภาคใต้ และได้รับพระราชทานราชทินนาม "นายพลเรือแห่งสามจังหวัดทหารเรือ" (ฮันกึล : 삼도수군통제사, ฮันจา :三道水軍統制使) ซึ่งทำให้เขาสามารถบังคับบัญชา กองทัพเรือซ้ายและขวาของจังหวัดกองซางโต กองทัพเรือซ้ายและขวาของจังหวัดจอนลา และกองทัพเรือซ้ายและขวาของจังหวัดชุงชอง

การทัพทั้งสี่ของแม่ทัพลี

กองกำลังญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ปูซานและดาแดจิน ที่ซึ่งเป็นเมืองท่าทางใต้ของเกาหลี เนื่องจากไม่มีกองเรือต่อต้าน กองทัพบกญี่ปุ่นจึงรุกคืบ เข้ายึดเมืองท่าทั้ง 2 ได้อย่างรวดเร็ว และเริ่มรุกขึ้นเหนือประหนึ่งสายฟ้าฟาด ทำให้เดินทางถึงโซลในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2135 ใช้เวลานับจากยกพลขึ้นบกเพียง 19 วัน สาเหตุที่กองทัพญี่ปุ่นสามารถดำเนินกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็วนั้น เนื่องจากความไร้ประสิทธิภาพของกองทัพบกภาคใต้ เนื่องจากกองกำลังหลักทางบกของเกาหลีไปอยู่ที่ภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งประมาทว่าญี่ปุ่นจะไม่รุกราน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรบที่แซงจู และความล้มเหลวในการป้องกันด่านโจลยอง

การทัพทั้งสี่ของอี ซุน-ชิน รวมไปถึงทุกๆ ปฏิบัติการ อย่างน้อย 33 ปฏิบัติการใหญ่ๆ ที่อี ซุน-ชินได้ชัยมา ทำให้ญี่ปุ่นต้องเสียเรือรบซันเคน เรือลำเลียงพล และเรือลำเลียงเสบียงนับร้อยๆ และมีทหารถูกจับนับพันนาย

เรือเต่า

ดูบทความหลักที่: เรือเต่า
ภาพวาดเรือเต่า

ความสำเร็จที่ได้รับการจดจำมากของแม่ทัพลีก็คือการรื้อฟื้น และพัฒนาเรือเต่า (โคบุคซอน;거북선) ขึ้นมาจากความคิดสร้างสรรค์ของเขา และการสนับสนุนของผู้ใต้บังคับบัญชาทุกนาย แท้จริงแล้ว อี ซุน-ชินไม่ใช่ผู้ที่คิดค้นเรือเต่านี้ขึ้นมา อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน หากแต่เขานำแบบแปลนเก่า ที่มีการคิดขึ้นมาแต่ยุคต้นราชวงศ์ลี (โซซอน) มาปรับปรุงใหม่ต่างหาก มีการคาดกันว่า แบบแปลนเก่านี้ น่าจะถูกเขียนขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแทจง

เรือเต่าที่อี ซุน-ชินได้ปรับปรุงขึ้น มีอัตราบรรจุปืนใหญ่ 24-28 กระบอก โดยแบ่งเป็นกราบ (ด้านข้างของเรือ) ละ 11กระบอก และหัวและท้ายเรือ ตำแหน่งละหนึ่งกระบอก หัวเรือถูกแกะสลักเป็นรูปมังกร และที่หัวมังกรแกะสลักนี้ สามารถบรรจุปืนใหญ่ได้อีกถึง 4 กระบอก อีกทั้งมีการบรรจุม่านควันอีกด้วย ปืนใหญ่และม่านควันนี้ถูกตกแต่งเข้ากันอย่างดี เพื่อการข่มขวัญข้าศึก ที่ด้านข้างของเรือ มีการเจาะช่องเพื่อยิงธนู, ปืนคาบชุด และปืนครก หลังคาเรือถูกคลุมด้วยแผ่นโลหะรูปแปดเหลี่ยมและหนามแหลม จุดประสงค์ของการสร้างหนามแหลมนี้ เพื่อป้องกันข้าศึกที่พยายามบุกเข้ายึดเรือ เพราะด้วยเหตุว่าลี ชุนชินทราบดีว่าประสิทธิภาพของทหารเกาหลีนั้นต่างจากความชำนาญอาวุธของทหารญี่ปุ่นมากรวมถึงทหารราบเกาหลีมักด้อยความสามารถทั้งด้านการฝึกฝนและอาวุธ ถึงแม้จะมีการสวมเกราะของทหารทั้ง2ฝ่ายแล้วก็ตามเรือรบญี่ปุ่นนี้มีขนาดใหญ่กว่าเรือเกาหลี อีกทั้งมีกราบเรือที่ยาวกว่า หนามแหลมบนเรือเต่านี้ จึงมีประโยชน์ในการป้องกันทหารญี่ปุ่นกระโดดลงมายึดเรืออย่างยิ่ง ตัวเรือมีหางเสืออยู่2ใบ และใบพาย 20ใบ ในยามเดินเรือ หนึ่งใบพาย จะใช้ 2ฝีพาย แต่ในยามรบ จะใช้ 5ฝีพาย

ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในวงการประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับจำนวนชั้นของเรือเต่า ว่ามี 2 หรือ 3ชั้น และยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่ทว่า เป็นที่แน่นอนว่าเรือเต่านั้นมีหลายชั้น แยกฝีพายออกจากหน่วยรบ นี่ทำให้เรือเต่ามีความคล่องตัวสูง เนื่องด้วยทั้งกำลังคนและลม โดยมากแล้ว เชื่อว่าเรือมี 2ชั้น ตามแปลนที่1 และ2ของเรือเต่า แต่นักประวัติศาสตร์บางท่านก็ยังเชื่อว่าเรือเต่ามี 3ชั้น เนื่องจากอี ซุน-ชินเป็นคนที่มีความเป็นส่วนตัวอันเป็นเอกลักษณ์ และเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆเสมอๆ ซึ่งแตกต่างจากคนอื่นที่มีคุณวุฒิ และวัยวุฒิเช่นเดียวกับเขาอย่างสิ้นเชิง จึงมีความเป็นไปได้ว่าเขาจะสร้างเรือเต่า 3ชั้น นอกจากนี้ เรือธงของเขา (เรือปานโอกซอน) ที่เขาใช้ตลอด 4การทัพนี้ ก็มี 3ชั้น ดังนั้นเรือเต่าก็น่าจะมี 3ชั้นเช่นกัน

เรือเต่านี้ เป็นส่วนที่มีชื่อเสียงที่สุดเกี่ยวกับกองเรือของอี ซุน-ชิน แต่เขากลับไม่เคยใช้เรือเต่ามากกว่า 5ลำ ในแต่ละยุทธนาวี สาเหตุที่ใช้น้อยนั้น ไม่ใช่มาจากเรื่องงบประมาณ และเวลาในการก่อสร้างอันมีจำกัดในตอนนั้น แต่เป็นเพราะกลยุทธ์การนาวีต่างหาก ในยุคนั้น คงมีเพียงราชนาวีอังกฤษและราชนาวีโซซอนเท่านั้น ที่ใช้ปืนใหญ่เป็นอาวุธหลัก โดยประวัติศาสตร์แล้ว ราชนาวีโซซอนมักจะปราบสลัดญี่ปุ่นด้วยปืนและปืนใหญ่มาตั้งแต่ราวๆ พ.ศ. 1933 แต่ราชนาวีโซซอนไม่มีหน่วยนาวิกโยธิน เพื่อยึดเรือ ในขณะที่กองทัพเรือญี่ปุ่นมี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับราชนาวีโซซอน ในการ "ออกห่าง" จากเรือรบญี่ปุ่น อี ซุน-ชินมักจะเตือนลูกน้องเขาเสมอว่า การไปรบประชิดตัวกับญี่ปุ่นเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะฝ่ายญี่ปุ่นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธระยะประชิดและกองทัพออกแบบอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อด้านนี้โดยเฉพาะ แต่ให้อาศัยระยะยิงที่เหนือกว่าให้เป็นประโยชน์แทน และเรือเต่าก็ถูกออกแบบมาเพื่อการนี้

เรือเต่า ถูกนำออกมาใช้ครั้งแรกในยุทธนาวีแห่งซาชอน (พ.ศ. 2135) และถูกนำมาใช้เกือบทุกครั้งจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ โศกนาฐกรรมที่ชีลชอนลยาง ที่ราชนาวีเสียเรือเต่าและพานโอกซอนทั้งหมด เหลือเพียง เรือพานโอกซอน 13ลำเท่านั้น (อี ซุน-ชินไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาในยุทธนาวีนี้ เนื่องจากเชื่อว่าเป็นกับดัก จึงถูกจับขึ้นศาลทหาร) และไม่ปรากฏอีกเลย นับแต่ยุทธการที่ช่องแคบมยองลยาง จุดเปลี่ยนที่2 ของสงคราม

เรือเต่านี้ โดยมากมักจะใช้เป็นหัวหอกทะลวงข้าศึก ใช้ได้ดีในพื้นที่แคบ ล้อมรอบไปด้วยเกาะแก่ง แต่ไม่เหมาะที่จะใช้ในทะเลเปิด

สายลับสองหน้าของญี่ปุ่น และความแตกแยกของเกาหลี

หลังชัยชนะอย่างต่อเนื่องของอี ซุน-ชิน ฮิเดโยชิ และแม่ทัพของเขาก็เริ่มหวาดเกรง เพราะกองเรือเกาหลีเข้าใกล้ปูซาน ฝ่ายญี่ปุ่นกลัวว่าเส้นทางลำเลียงเสบียงจะถูกตัด อีกทั้ง อี ซุน-ชินยังทำให้การขนส่งอาหารและยุทโธปกรณ์ของญี่ปุ่นล่าช้า กำลังเสริมจากญี่ปุ่นก็ผ่านด่านกองทัพเรือเกาหลีไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ แผนการบุกเข้าเปียงยางจึงชะงักลง ด้วยว่าเสบียงมาไม่ถึงมือกองหน้าทั้ง2ของญี่ปุ่น

แต่ฮิเดโยชิก็ปรับแผนอย่างรวดเร็ว ที่ปูซาน เรือรบญี่ปุ่นถูกปรับปรุงด้วยการเสริมเกราะไม้และปืนใหญ่ และเพิ่มมาตรการป้องกันอ่าวด้วยปืนใหญ่ตามริมแนวชาวฝั่ง โดยสั่งให้โรงหล่อในปูซานหล่อขึ้นมา ที่สำคัญที่สุด ญี่ปุ่นรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังความกลัวของพวกเขา และอี ซุน-ชินจะต้องถูกกำจัดให้พ้นทาง ตราบใดที่อี ซุน-ชินยังอยู่ ไม่มีอะไรสามารถรับประกันความปลอดภัยทางทะเลให้ญี่ปุ่นได้แน่นอน

เนื่องจากความแยกแยก แบ่งฝักฝ่าย เล่นพรรคเล่นพวกของราชสำนักโซซอน ทำใหญ่ญี่ปุ่นคิดกลอุบายได้ สายลับสองหน้าของญี่ปุ่นนาม โยชิระ ถูกส่งเข้าหานายพลเกาหลีนาม คิม อูงซู เพื่อคอยป้อนข้อมูลเท็จให้เกาหลี และทางเกาหลีก็เชื่อเขาเสียด้วย

วันหนึ่ง เขาหลอกแม่ทัพคิมว่า แม่ทัพ คาโต้ คิโยมาสะจะยกทัพมา ณ สถานที่ และวันเวลาที่แน่นอน ด้วยกำลังพลมหาศาล เพื่อโจมตีชายฝั่งอย่างแน่นอน และยุยงให้เขาส่งอี ซุน-ชินออกไปรบ แม่ทัพคิมหลงเชื่อและส่งสารแจ้งไปยังจอมพล คอน ยูล ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (Commander-in-Chief; 도원수, 導元帥) ผู้ที่ส่งสารฉบับนี้ขึ้นทูลเกล้าถวายแด่พระเจ้าซอนโจอีกทอด พระเจ้าซอนโจทรงกระหายชัยชนะ เพื่อที่จะขับญี่ปุ่นออกไปจากราชอาณาจักรของพระองค์ยิ่งนัก จึงทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โจมตี อย่างไรก็ตาม อี ซุน-ชินกลับปฏิเสธที่จะสนองพระบรมราชโองการ เนื่องจากเขาทราบดีว่า ข้อมูลนี้ได้รับมาจากสายลับของข้าศึก อีกทั้งยุทธภูมินี้ เต็มไปด้วยหินโสโครก อันตรายอย่างยิ่ง อีกทั้งคลื่นลมก็ไม่เหมาะแก่การรบ ที่สำคัญ เขาไม่เชื่อคำพูดสายลับสองหน้า

เมื่อแม่ทัพคิมกราบทูลรายงานถึงการปฏิเสธพระบรมราชโองการ เหล่าขุนนางขี้อิจฉา ที่จ้องจะล้มอี ซุน-ชินต่างก็เร่งกราบทูลให้ลงพระอาญาอี ซุน-ชิน และส่งแม่ทัพวอน กยูน อดีตอดีตผู้บัญชาการกองเรือตะวันตกแห่งจังหวัดกองซาง และผู้บัญชาการทหารบกแห่งจอนลา เพื่อเป็นการซ้ำเติมอี ซุน-ชิน วอน กยูนยังกราบทูลรายงานป้ายสีว่า อี ซุน-ชินเป็นพวกขี้เหล้าและเกียจคร้าน

ด้วยเหตุนี้ อี ซุน-ชินจึงถูกปลด ถูกจับใส่โซ่ตรวน และถูกส่งไปยังโซล เพื่อทรมานและจองจำ อี ซุน-ชินถูกทรมานจนเกือบตาย ด้วยวิธีทรมานพื้นฐานเช่น การเฆี่ยนด้วยแส้, การโบยตีด้วยพลอง, การนาบด้วยเหล็กร้อนแดง และ ด้วยวิธีตามแบบการทรมานของเกาหลี คือการหักขา [ต้องการอ้างอิง] แท้จริงแล้ว พระเจ้าซอนโจทรงหมายจะเอาชีวิตเขาด้วยซ้ำ แต่ผู้สนับสนุนอี ซุน-ชิน โดยเฉพาะ เสนาบดีชุง ตาก ขอให้ทรงเมตตาอี ซุน-ชิน เพื่อเห็นแก่ความดีความชอบแต่ครั้งก่อน ส่วนมหาเสนาบดี ยู ซอง ลยอง ที่เคยเป็นเพื่อนสมัยเด็กของอี ซุน-ชิน และเป็นหัวเรือใหญ่ในการสนับสนุนเขากลับนิ่งเงียบในช่วงนี้ แม้จะได้รับการละเว้นโทษตาย แต่เขากลับถูกลดขั้นลงเป็นทหารเลวอีกครั้ง ในกองพลของจอมพลคอน ยูล โทษนี้ สำหรับแม่ทัพเกาหลีนั้น รุนแรงยิ่งกว่าโทษตายเสียอีก เพราะพวกเขามีชีวิตอยู่ด้วยเกียรติยศ

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาโดนลดขั้นลงเป็นทหารเลว ก่อนนี้ ตอนที่เขาเป็นนายทหาร เขาก็เคยถูกใส่ความว่าหล่ะหลวมในการป้องกัน เผ่าหนี่เจิน อานารยชน ผู้รุกรานจากทางเหนือ ที่ส่งผลให่เกิดความสูญเสียมากมายนัก แต่ข้อเท็จจริงนั้น อี ซุน-ชินมองเห็นถึงจุดอ่อนนี้แล้ว และสั่งให้เสริมแนวป้องกัน แต่ผู้บังคับบัญชาของเขากลับเห็นว่าเขาเลอะเทอะ และโยนความผิดทุกอย่างให้เขาในภายหลัง

แต่ถึงแม้ว่าเขาจะได้รับความอัปยศอดสู จากการถูกลดขั้นเป็นทหารเลว แต่เขาก็ยังคงทำงานของเขาโดยไม่ปริปากบ่นอย่างขยันขันแข็ง อีกทั้งบรรดานายทหารก็ล้วนให้เกียรติเขา ด้วยรู้ว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ และในไม่ช้า เขาก็เข้าไปอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพลคอน ยูล จนกระทั่งการตายในสนามรบของแม่ทัพวอน กยูน พร้อมหายนะที่ช่องแคบชีลชอนลยอง เขาจึงได้รับการคืนยศ

การคืนยศและการทัพครั้งสุดท้าย

เนื่องด้วยอี ซุน-ชิน ไม่มีอำนาจใดๆอีกต่อไปแล้ว ญี่ปุ่นจึงไม่มีอะไรต้องกังวลอีกต่อไป การเจรจาสันติภาพระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่น ประสบความล้มเหลวใน พ.ศ. 2139 และการรุกรานเกาหลีครั้งที่2จึงเปิดฉากขึ้นในต้นเดือนของปีถัดมา ด้วยกำลังพล 140,000 นาย และกองเรือ 1,000ลำ แต่รอบนี้ญี่ปุ่นโชคไม่ดีเหมือนคราวก่อน สมเด็จพระจักรพรรดิว่านลี่ แห่งราชวงศ์หมิง มีพระบรมราชโองการ ส่งกองพลนับพันเข้ามาช่วยเหลือเกาหลีในครั้งนี้ ดังนั้น เกาหลีจึงสามารถยันกองทัพญี่ปุ่น และผลักญี่ปุ่นลงใต้ได้สำเร็จในช่วงฤดูหนาวของปีพ.ศ. 2139

ถึงแม้ว่ากองทัพผสมทางบกของเกาหลี-จีนจะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แต่ในด้านกองทัพเรือนั้นกลับล้มเหลว แม่ทัพวอน กยูนล้มเหลวในการป้องกันน่านน้ำ ปล่อยให้กองทัพเรือญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่อ่าวโซแซงได้โดยสวัสดิภาพ และเริ่มปฏิบัติการทางทหารได้อย่างง่ายดาย

แม่ทัพวอน กยูน ผู้ที่เข้ามารับผิดชอบกองทัพเรือเกาหลีแทนอี ซุน-ชิน ตัดสินใจเคลื่อนกองเรือทั้งหมดของราชนาวีโซซอน ที่สร้างโดยอี ซุน-ชิน จำนวน 150ลำ พร้อมกะลาสี 30,000นาย วอน กยูนเคลื่อนพลจากฐานทัพเรือยอซูโดยแทบจะไม่ได้มีแผนการอะไรเลย นอกจากลาดตระเวณล่าทำลายกองเรือญี่ปุ่นบริเวญปูซาน เช้าวันถัดมา วอน กยูน ก็ตรวจพบกองเรือญี่ปุ่น วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2140 ที่ช่องแคบชิลชอน ยุทธนาวีที่ช่องแคบชิลชอนก็เริ่มขึ้น และกองทัพเรือเกาหลีก็ถูกสังหารหมู่ที่นี่เอง กะลาสีเรือเกาหลีที่กำลังเหนื่อยล้าจากการพายเรือ ถูกกองทัพเรือญี่ปุ่นเข้าตีฉับพลัน เรือรบญี่ปุ่นเข้าประชิดเรือเกาหลี ขว้างตะขอเกี่ยวเรือ แล้วทหารญี่ปุ่นโหนตัวเองบุกขึ้นเรือเกาหลี ,เริ่มการประจันบานในระยะประชิด แทหารเกาหลีซึ่งไม่ใช่คู่มือของทหารญี่ปุ่นจึงพ่ายแพ้ในที่สุด

นี่คือความต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างแม่ทัพกวอน ยูล และแม่ทัพอี ซุน-ชิน ซึ่งอี ซุน-ชินมักจะเคลื่อนทัพอย่างมีแบบแผนและกลยุทธ์ ในขณะที่กวอน ยูลยอมให้กองทัพเรือญี่ปุ่นบุกเข้าประชิด ขึ้นยึดเรือเพื่อเข้ารบในระยะประชิด ซึ่งเป็นกลยุทธ์พื้นฐานของกองทัพญี่ปุ่นได้อย่างง่ายดาย

ผลลัพธ์ของยุทธนาวีนี้ คือหายนะของกองทัพเรือเกาหลี ที่อยู่ในระดับสิ้นไร้ไม้ตอก' โดยมีเพียงเรือรบ 13ลำเท่านั้นที่เหลือรอดมาได้ (จาก 150ลำ) 12ลำที่รอดมานั้น หนีทัพภายใต้การนำของ ปาล โซล ที่คาดการเอาไว้แล้วว่าการรบครั้งนี้คือหายนะ หลังการล่าทำลาย แม่ทัพกวอน ยูล และแม่ทัพลี ออกกีและผู้บัญชาการอื่นๆ ต่างหนีขึ้นเกาะพร้อมด้วยทหารนายอื่นๆที่รอดตาย แต่ก็พบทหารญี่ปุ่นจากป้อมใกล้ๆ ยืนคอยท่าอยู่แล้ว ไม่มีการจับเป็น และถูกสังหารทิ้งทั้งหมด และยุทธนาวีที่ช่องแคบชีลลยองนี้ ก็เป็นยุทธนาวีเดียวที่ญี่ปุ่นมีชัยเหนือกองทัพเรือเกาหลี ในสงครามนี้

หลังพระเจ้าซอนโจทรงสดับข่าวหายนะนี้ มีพระราชโองการปล่อยอี ซุน-ชิน และคืนยศ ผู้บัญชาการทหารเรือให้ทันที แต่อี ซุน-ชินก็พบว่า เขามีเรือรบอยู่ 12ลำ กับกำลังพลที่รอดชีวิต และพร้อมที่จะเข้าสู่สนามรบเพียง 200นาย เมื่อรวมกับเรือธงของเขา เขามีเรือรบในบังคับบัญชาเพียง 13ลำเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พรเจ้าซอนโจจึงทรงดำริว่ากองทัพเรือของพระองค์สิ้นนาวิกานุภาพแล้ว ยากที่จะพื้นฟูให้ทันเวลา จึงมีพระราชโองการให้ยุบกองทัพเรือ และโยกให้ไปขึ้นตรงต่อกองทัพบก ภายใต้การนำของจอมพล คอน ยูล แต่อี ซุน-ชินกลับทูลตอบว่า "ข้าพเจ้ายังมีเรือรบอยู่13ลำ ตราบที่ข้าพระองค์ยังมีชีวิตอยู่ ราชศัตรูจะไม่มีทางได้ทะเลตะวันตกอย่างแน่นอน (หมายถึงทะเลเหลือง) ฝ่ายญี่ปุ่น ภายใต้การนำของคูรูชิมะ มิชิฟูสะ,โทโด ทากาโทระ,คาโต้ โยชิอากิและวากิซากะ ยาสุฮารุ ที่กำลังได้ใจจากชัยชนะในครั้งก่อน ก็หมายจะกำจัดอี ซุน-ชิน พร้อมเรือรบที่เหลืออีก 13ลำ ระหว่างทางไปโซล ก็เคลื่อนพลออกจากปูซานสู่โซล

การตอบสนองต่อความเคลื่อนไหวของอี ซุน-ชินช่างทรงพลังยิ่ง 26 ตุลาคม พ.ศ. 2140 เขาลวงกองทัพเรือญี่ปุ่น (เรือรบ 133ลำ และเรือลำเลียง ไม่ต่ำกว่า200ลำ) ให้เขามาที่ช่องแคบมลองยอง และเริ่มเปิดฉากเข้าตีกองเรือญี่ปุ่นที่นั่น [15] ด้วยการระดมยิงปืนใหญ่และธนูไฟใส่เรือข้าศึก อีกทั้งรักษาระยะห่างจากเรือข้าศึก มิให้ข้าศึกสามารถบุกขึ้นยึดเรือได้ เรือญี่ปุ่น 31ลำอับปาง ทหารญี่ปุ่นนับพันถูกฆ่า ไม่ก็จมน้ำตาย แม่ทัพคูรูชิมะ มิชิฟูสะของญี่ปุ่น ถูกยิงตายโดยพลธนูประจำเรือที่เข้าใกล้เรือธงของญี่ปุ่น ชัยชนะของอี ซุน-ชินในยุทธนาวีที่ช่องแคบมลองยองนี้ สะท้อนให้เห็นถึง ความสามารถอันยิ่งยวดของเขาในฐานะนายทหารจอมยุทธศาสตร์ ทุกวันนี้ ชาวเกาหลีจะเฉลิมฉลองชัยชนะจากยุทธนาวีที่ช่องแคบมลองยอง ในฐานะชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของอี ซุน-ชิน

การรบครั้งสุดท้าย และการอสัญกรรมของอี ซุน-ชิน

แผนที่แสดงเส้นทางการเดินเรือในระหว่างยุทธนาวีโนรยัง

15 ธันวาคม พ.ศ. 2141 กองเรือขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ภายใต้การบังคับบัญชาของชิมาสุ โยชิฮิโระได้มารวมพลที่อ่าวซาชอน ที่อยู่ทางตะวันออกสุดของช่องแคบโนรยัง เป้าหมายของชิมาสุคือการสลายการสกัดกันของกองเรือผสมหมิง-โชซ็อน ที่สกัดกองเรือของโคนิชิ ยูกินากะ เพื่อสนธิกำลัง ก่อนที่จะถอนกำลังกลับบ้าน ในขณะเดียวกัน อี ซุน-ชินก็ทราบตำแหน่งที่แน่ชัดของชิมาสุ ผ่านการรายงานของหน่วยลาดตระเวณหาข่าวและชาวประมงพื้นในพื้นที่

กองเรือโซซอนประกอบด้วย เรือปานโอกซอน 82ลำ และเรือเต่า3ลำ พร้อมกำลังพล 8,000นาย [16] ส่วนกองเรือหมิงประกอบด้วย เรือรบสำเภาจีนขนาดใหญ่ 6ลำ เรือแกลเลียนขนาดเล็ก 57ลำ[17] และเรือปานโอกซอนที่อี ซุน-ชินมอบให้ เชน หลิน 2ลำ พร้อมกำลังพล 5,000นายจากกรมทหารประจำมณฑลกวางตุ้ง และนาวิกโยธินจีน 2,600นาย ที่ประจำการบนเรือรบโซซอน[17][18]

การปะทะเริ่มขึ้น ณ เวลา 0200 ของวันที่ 16 ธันวาคม การรบที่ผ่านมา ฝ่ายญี่ปุ่นไม่สามารถรับมือกับกองเรือเกาหลีได้เลย ถ้าอี ซุน-ชินเป็นคนบัญชาการรบ ครั้งนี้ก็เช่นกัน กองเรือผสมหมิง-โซซอนเปิดฉากยิงปืนใหญ่สกัดกั้นการเคลื่อนตัวของญี่ปุ่น[ต้องการอ้างอิง] นอกจากนี้ ความคับแคบในช่องแคบโนรยัง ยังทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นไม่สามารถขยับตัวได้อีกด้วย

เมื่อญี่ปุ่นเริ่มร่นถอย อี ซุน-ชินก็เร่งให้ตามตี แต่ในช่วงเวลานี้เอง กระสุนปืนคาบศิลานัดหนึ่งที่ญี่ปุ่นยิงมา ถูกร่างของอี ซุน-ชิน[19] เข้าที่สีข้างด้านขวา[20] แม้ว่ากระสุนจะเข้าที่จุดตาย แต่อี ซุน-ชินกลับกล่าวว่า "การรบดำเนินมาถึงจุดสูงสุดแล้ว อย่าให้ใครรับรู้ถึงการตายของข้า"[19] แล้วเขาก็ขาดใจตายในอีกไม่กี่อึดใจถัดมา

ผู้ที่อยู่ดูใจอี ซุน-ชินก่อนจากไปนั้นมีเพียง3คนเท่านั้น 2ใน3คนนั้นได้แก่ ลี โฮ ลูกชายคนโตของอี ซุน-ชิน และลี วานหลานชายของเขา เพื่อมิให้ใครสังเกตเห็นการตายของอี ซุน-ชิน ลีโฮและลีวาน ประคองร่างของอี ซุน-ชินไร้วิญญาณเข้าไปในตัวเรือ เพื่อหลีกหนีสายตาของผู้คน สำหรับการรบที่เหลือ ลีวานสวมเกราะของลุงของเขา แล้วขึ้นไปตีกลองศึก เพื่อรักษาขวัญกำลังใจทหารว่าแม่ทัพของเขายังคงมีชีวิตเรือธงยังคงทำการรบอยู่[19]

ระหว่างศึก เฉิน หลิน แม่ทัพเรือฝ่ายจีนตกอยู่ในภาวะคับขัน 2-3ครั้ง และเรือธงก็ตรงเข้ามาช่วยเขาทุกครั้ง เมื่อเชนหลิงมาเข้าพบอี ซุน-ชิน เพื่อขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือ เขาพบลีวาน และได้รับแจ้งถึงมรณกรรมของอี ซุน-ชิน[21] กล่าวกันว่า เชนหลิงตกใจมาก คุกเข่าลงโขกศีรษะถึง3ครั้งและร้องไห้[22] ข่าวการจากไปของแม่ทัพลี แพร่สะพัดไปทั่วทั้งกองเรือผสมหมิง-โซซอนอย่างรวดเร็ว ทหารหาญทุกนาย ไม่ว่าจะหมิงหรือโซซอนต่างก็พากันร้องไห้ระงม[21]

ร่างไร้วิญญาณของแม่ทัพลี ถูกนำส่งไปยังบ้านเกิดที่อาซาน เพื่อฝังไว้ข้างๆบิดาของเขาตามประเพณีนิยม ศาลเจ้าถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติให้แก่เขา

แหล่งที่มา

WikiPedia: อี_ซุน-ชิน http://militaryhistory.about.com/od/16thcentury/a/... http://www.encyber.com/search_w/ctdetail.php?gs=ws... http://news.hankooki.com/lpage/society/200510/h200... http://www.jadedragon.com/archives/history/yisunsh... http://www.segye.com/Service5/ShellView.asp http://kr.dic.yahoo.com/search/enc/result.html?p=%... http://www2.hawaii.edu/~sford/research/turtle/inde... http://mokpo.momaf.go.kr/doc/mokpo_seainfo/2000111... http://www.yushin.or.kr/@history/dvd-kbshistory/kb... http://www.koreanhero.net/en/AboutYiSunsin.htm